นาโนซิลเวอร์ นวัตกรรมใหม่ ในเครื่องใช้ไฟฟ้า
[ดร. อดิสร เตือนตรานนท์ adisorn.tuantranont@nectec.or.th ]
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมในงานสัมมนาในหัวข้อ ก้าวใหม่อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลด้วยนาโนเทคโนโลยี โดยเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อเรื่อง นาโนเทคโนโลยี...ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้อย่างไร ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจแก่ภาคเอกชนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราเรียกว่า white goods เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เป็นต้น
หนึ่งในบริษัทที่ร่วมในงานนี้คือ บริษัท ซัมซุง ประเทศไทย โดยทางบริษัทได้นำเสนอการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของเขา ได้แก่ เครื่องปรับอากาศนาโน ตู้เย็นนาโน รวมทั้งเครื่องซักผ้านาโน โดยซัมซุงนำเทคโนโลยีหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากมาใช้นั่นคือ นาโนซิลเวอร์ (nano-silver) และมีผู้ที่ยังไม่เข้าใจในเทคโนโลยีนี้และให้ความสนใจซักถามเป็นอันมาก
นอกจากซัมซุงแล้ว แอลจี (LG) ก็นำเทคโนโลยีอนุภาคเงินขนาดนาโนมาใช้ในเครื่องดูดฝุ่นนาโนอีกด้วย ผมจึงอยากนำเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้มาเล่าให้ฟังกันครับ เดี๋ยวจะตกกระแส
นาโนเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้ารอบตัวเรามากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จะเห็นได้ว่าเราเริ่มเห็นโฆษณาตามสื่อต่างๆ ถึงการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยสามารถฆ่าเชื้อโรคไม่ว่าจะในอากาศหรือในน้ำ โดยการนำอนุภาคเงินบริสุทธิ์ 99.99% ซึ่งเป็นโลหะเดี่ยวที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดีนั้นมาแตกตัวเป็นประจุหรืออนุภาคขนาดเล็กระดับนาโน
ความจริงโลหะนั้นมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เงิน ทองแดง ทองคำ อะลูมิเนียม สังกะสี แต่ที่เราเลือกใช้โลหะเงินนั้นก็เพราะโลหะเงินจะเกิดประจุบวก Ag+ ได้ดีและมีอิเล็กตรอนวงนอกสุดเพียงตัวเดียว เมื่อโลหะเงินแตกตัวกลายเป็นประจุเงินแขวนลอย (silver colloid) อนุภาคเงินนาโนก็จะไปเกาะที่ผนังของเชื้อแบคทีเรียและแทรกเข้าไปภายในโดยไปเกาะกับหมู่ sulphydryl (-SH) ของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เผาผลาญออกซิเจนและพลังงาน (oxygenic metabolic enzymes) ทำให้ไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์และทำให้เจ้าเชื้อโรคแบคทีเรียขาดอาหารและตายในที่สุด
มีการค้นพบว่าอนุภาคเงินสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ถึง 650 ชนิด รวมทั้ง Streptococcus และ Lactobacillus ที่เราคุ้นเคยกันในนมเปรี้ยว รวมทั้งแบคทีเรีย Staphylococcus และ E. coli ที่เรามักจะพบในอาหารที่เน่าเสียได้ในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น ทำให้สามารถนำมาผสมในน้ำยาบ้วนปากใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก นำมาผสมในวัสดุทำหน้ากากปิดปากหรือผ้าเช็ดหน้า แม้กระทั่งพรมและสีทาบ้าน
ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ได้มีการทดสอบแล้วว่าไม่มีโทษต่อร่างกาย เนื่องจาก เงินเป็นธาตุเฉื่อยที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้วคล้ายกับทองคำ ซึ่งในต่างประเทศมีการนำแผ่นทองคำมาใส่ในเหล้าหรือสาเก เพื่อช่วยให้เร่งปฏิกิริยาในการบ่มและมีรสชาติดียิ่งขึ้น แถมมีราคาแพงเสียด้วย ถ้า OTOP ของไทยจะลองดูก็ได้นะครับ อาจช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สาโทไทย รสชาติจะดีขึ้นหรือไม่ก็ตามอย่างน้อยรสชาติทางใจก็ยังดีครับ และมีการใช้โลหะเงินในปริมาณที่น้อยมากก็สามารถแสดงคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ผลดี จึงไม่มีผลข้างเคียงใดๆ กับร่างกาย
ในสมัยโบราณย้อนไปสมัยกรีกโบราณก็มีการใช้โลหะเงินทำเป็นที่เก็บน้ำดื่ม หรือสมัยยุคตื่นทองในสหรัฐอเมริกา ทหารที่รบในสนามรบก็มีการใช้เหรียญเงินแช่ลงไปในน้ำนมก่อนดื่ม หรือในอินเดีย ก็มีการเก็บอาหารที่เน่าเสียง่ายโดยใช้ภาชนะเครื่องเงิน
ดังนั้นความรู้เรื่องโลหะเงินสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรานั้นเป็นภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่มีมานานแล้วทั่วโลก แต่นาโนเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อได้มากขึ้น เนื่องจากขนาดที่เล็กของอนุภาคเงินทำให้พื้นที่ผิวมากขึ้น การทดลองพบว่าทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยเท่าตัวเลยทีเดียวและยังสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น
ยกตัวอย่าง มีการผสมอนุภาคเงินเข้าไปในเส้นใยผ้าไม่ว่าจะเป็น Polypropylene หรือ ไนลอน (nylon) เพื่อฆ่าเชื้อโรคแบคทีเรียที่อาจเกิดจากการหมักหมมของเหงื่อบนผิวหนัง ดังนั้นจึงเหมาะมากสำหรับเสื้อผ้าสำหรับนักกีฬาหรือเครื่องแบบทหาร ตำรวจ บริษัท Nisshinbo ของประเทศญี่ปุ่นได้นำอนุภาคนาโนของเงินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นาโนเมตรผสมในผ้าที่ผลิต เกิดเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นผ้าที่ต่อต้านแบคทีเรียและกลิ่นอับและคุณสมบัติเหล่านี้จะติดทนอยู่กับผ้าอย่างถาวร ไม่ว่าจะซักผ้ากี่ครั้งก็ตาม
นอกจากนี้ยังนำมาทำเป็นเจลฆ่าเชื้อโรคที่ไม่เหนียวเหนอะหนะ และไม่ต้องใช้น้ำ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อนุญาตให้ผสมอนุภาคเงินประเภท silver dihydrogen citrate ในวัสดุพื้นผิวของเครื่องเล่นของเด็ก ช่วยฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับมือของเด็กเล็กๆ ที่วิ่งซุกซนในสนามเด็กเล่นและมีการใช้อนุภาคเงินนาโนในการทำความสะอาดน้ำสำหรับใช้ในโรงพยาบาลในประเทศแคนาดา
เห็นไหมครับว่าเจ้าอนุภาคเงินนาโนมันช่างมหัศจรรย์จริงๆ แล้วคงจะได้เห็นมันผสมอยู่ในวัสดุอื่นๆ อีกมากมาย คอยสังเกตดูนะครับ หวังว่าเรื่องราวในวันนี้จะช่วยตอบคำถามหลายต่อหลายคำถามในวันนั้นได้นะครับ
สัปดาห์หน้ามาพบกันใหม่ครับ
[ข้อมูลจาก www.bangkokbiznews.com]